- Home page
- Blogs Room
- ปลูกป่า ลดโลกร้อน สร้างเมืองสีเขียวได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว
ปลูกป่า ลดโลกร้อน สร้างเมืองสีเขียวได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว
รู้หรือไม่ว่า ต้นไม้เพียง 1 ต้นสามารถผลิตออกซิเจนให้มนุษย์หายใจได้ถึง 2 คนต่อปี แต่น่าเศร้าที่วันนี้พื้นที่ป่าไม้ของไทยกลับลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสามของประเทศ ส่งผลให้ต้องเผชิญกับวิกฤตมลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน
การฟื้นฟูป่าไม้จึงเป็นภารกิจสำคัญ เพราะป่าไม้คือ "ปอดของโลก" ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันภัยธรรมชาติอย่างดินถล่มและน้ำท่วม และเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตนับพันชนิด นี่คือเหตุผลที่การปลูกป่าไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างยั่งยืน
วันนี้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ในบ้าน ร่วมกิจกรรมปลูกป่าชุมชน หรือ "ปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว" กับ สิงห์ เอสเตท เพราะทุกต้นไม้ที่ปลูกคือการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของลูกหลาน
สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมป่าไม้ พบว่าในปี พ.ศ. 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี พ.ศ. 2563 เหลือเพียงร้อยละ 31.64 สาเหตุหลักในการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการค้า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
ทำไมต้องฟื้นฟูป่าไม้
การฟื้นฟูป่าไม้ เป็นการสร้างพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายให้มีสภาพใกล้เคียงกับพื้นที่ป่าที่เคยมีอยู่เดิมให้มากที่สุด เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะป่าไม้เปรียบเสมือนปอดของโลกที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตออกซิเจน ช่วยป้องกันการเกิดภัยธรรมชาติ เช่น ดินถล่มและน้ำท่วม และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด ฉะนั้นการทำลายป่าไม้จึงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพภูมิอากาศและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ การฟื้นฟูป่าไม้จึงเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่าต่ออนาคตโลก
การปลูกป่า ถือเป็นกระบวนการฟื้นฟูและช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยการปลูกป่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพราะต้นไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาคุณภาพอากาศถือเป็นแหล่งผลิตออกซิเจน ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การอนุรักษ์น้ำ การป้องกันการกัดเซาะดิน และการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
การปลูกป่า คืออะไร
การปลูกป่า คือ การสร้างพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด ตามประเภทของป่าเดิม หรือที่สามารถเข้ากับระบบนิเวศบนพื้นที่ป่าเดิมเคยถูกทำลายลงไป เป็นการนำเอาธรรมชาติกลับคืนมาเพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ และช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำลายป่า โดยการปลูกป่านั้นมีหลากหลายแบบ ดังนี้
1. การปลูกป่าฟื้นฟู (Restoration Planting)
การปลูกป่าฟื้นฟู เป็นการปลูกป่าในพื้นที่ที่เคยเป็นป่ามาก่อน แต่ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมไป เพื่อคืนสภาพป่าที่เสื่อมโทรมหรือถูกทำลายให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
2. การปลูกป่าใหม่ (Afforestation)
เป็นการปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อน หรือในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เช่น พื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้าง หรือพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและสร้างระบบนิเวศใหม่ในระแวกนั้น
3. การปลูกป่าเชิงเศรษฐกิจ (Economic Forest Planting)
เป็นการปลูกป่าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มักปลูกไม้โตเร็วที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไม้สัก ไม้ยูคาลิปตัส หรือไม้ผล เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุดและคุ้มค่าต่อการลงทุน
4. การปลูกป่าชายเลน (Mangrove Reforestation)
เป็นการปลูกป่าในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
5. การปลูกป่าในเมือง (Urban Forestry)
เป็นการดูแลและปลูกต้นไม้ในพื้นที่เมืองหรือชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ริมถนน เพื่อช่วยลดมลพิษ สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้ดีขึ้น
6. การปลูกป่าแบบผสมผสาน (Agroforestry)
เป็นการปลูกป่าร่วมกับการทำเกษตรกรรม และการเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
วิธีปลูกป่า 3 ระบบนิเวศ เพื่อความยั่งยืน
การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งป่าบนพื้นที่สูงที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำ พื้นที่สีเขียวในเมืองที่ช่วยสร้างสมดุลให้สภาพแวดล้อม และป่าชายเลนที่เป็นแนวกันชนธรรมชาติริมฝั่งทะเล
แต่ละระบบนิเวศมีความท้าทายและวิธีการปลูกที่แตกต่างกัน ป่าต้นน้ำต้องเน้นการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป่าในเมืองต้องออกแบบให้อยู่ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนป่าชายเลนต้องทนต่อคลื่นลม การเข้าใจลักษณะเฉพาะเหล่านี้จะช่วยให้การปลูกป่าประสบความสำเร็จและสร้างประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
1. วิธีปลูกป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
การปลูกป่าต้นน้ำเริ่มต้นจากการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ต้นน้ำ โดยเน้นบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร มีการวิเคราะห์สภาพดินและความลาดชันของพื้นที่ พร้อมทั้งวางระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การทำคันดินและฝายชะลอน้ำ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันการพังทลาย
การเลือกพันธุ์ไม้ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยปลูกแบบผสมผสาน 3 ระดับชั้นเรือนยอด ได้แก่ ไม้ชั้นบนประเภทโตช้าอย่างยางนาและตะเคียนทองที่มีรากแข็งแรง ไม้ชั้นกลางประเภทโตเร็วอย่างสะเดาและตะกู โดยปลูกกึ่งกลางระหว่างต้นไม้ชั้น 1 และไม้ชั้นล่างอย่างสีเสียดและขี้เหล็กที่ช่วยรักษาความสมบูรณ์ของดิน การปลูกควรเว้นระยะห่างระหว่างต้นให้เหมาะสมตามแต่ละประเภทของต้นไม้ตั้งแต่ 2-8 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงการแก่งแย่งน้ำ ธาตุอาหาร และแสงสว่างระหว่างกันและกัน
การดูแลรักษาหลังการปลูกต้นไม้ควรรดน้ำสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 1 ครั้งและกำจัดวัชพืช พร้อมทั้งสร้างแนวป้องกันไฟป่า สำหรับการดูแลระยะยาว เน้นการบำรุงรักษาระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกเสริมในพื้นที่โล่ง และติดตามการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ป่าต้นน้ำฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์และทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญต่อไป
2. วิธีปลูกป่าในเมือง สร้างพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
การปลูกป่าในเมืองเริ่มต้นจากการวางแผนพื้นที่อย่างเป็นระบบ เน้นการอนุรักษ์ต้นไม้เดิมที่มีอยู่และเพิ่มพื้นที่สีเขียวใหม่ทั้งในแนวราบและแนวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะหน้าอาคาร แนวถนน สวนดาดฟ้า หรือพื้นที่รกร้าง โดยต้องคำนึงถึงระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและการเติบโตของต้นไม้ในระยะยาว
การเลือกพันธุ์ไม้ต้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเมือง โดยผสมผสานทั้งไม้ยืนต้นทรงสูงอย่างจามจุรีและพิกุลที่ให้ร่มเงา ไม้พุ่มและไม้คลุมดินอย่างเข็มและหญ้านวลน้อยที่ช่วยเพิ่มความสวยงาม รวมถึงไม้เลื้อยอย่างการเวกและพวงชมพูที่ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในแนวตั้ง
สำหรับการดูแลรักษา จำเป็นต้องมีระบบน้ำอัตโนมัติ การตัดแต่งกิ่งตามหลักรุกขกรรม และเฝ้าระวังโรคและแมลงที่พบบ่อยในเมือง พร้อมทั้งดูแลระบบรากไม่ให้กระทบกับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้นไม้เติบโตแข็งแรงและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมเมืองได้อย่างยั่งยืน
3. วิธีปลูกป่าปลายน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง
การปลูกป่าปลายน้ำหรือป่าชายเลนเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ เริ่มจากการศึกษาระดับน้ำขึ้นน้ำลง ตรวจสอบความเค็มของน้ำและดิน และวิเคราะห์ทิศทางคลื่นในพื้นที่ เพื่อให้การปลูกประสบความสำเร็จและต้นไม้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง
สำหรับการเลือกพันธุ์ไม้ต้องปลูกเป็นแนวตามธรรมชาติ โดยแนวหน้าที่ติดทะเลใช้โกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ แนวกลางปลูกแสมและลำพู ส่วนแนวหลังใช้ตาตุ่มทะเลและหงอนไก่ทะเล การปลูกควรทำในช่วงน้ำลงต่ำสุด ใช้ไม้ค้ำยันกล้าไม้ และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เพื่อให้รากสามารถแผ่ขยายและแตกกิ่งก้านได้เต็มที่
การดูแลรักษาต้องตรวจสอบการรอดตายหลังปลูก 2 สัปดาห์ ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากคลื่นลม และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแล นอกจากนี้ควรป้องกันขยะทะเลและมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโต เพื่อให้ป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันธรรมชาติและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สมบูรณ์
ประโยชน์ของการปลูกป่า
1. ด้านสิ่งแวดล้อม
ลดภาวะโลกร้อน
ต้นไม้ดูดซับ CO2 ได้มาก โดยเฉลี่ยต้นไม้ขนาดใหญ่ 1 ต้น สามารถดูดซับ CO2 ได้ประมาณ 22 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งป่าไม้ทั่วโลกกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 2.6 พันล้านตันต่อปี
ปรับปรุงคุณภาพอากาศ
ต้นไม้ขนาดใหญ่ 1 ต้น สามารถผลิตออกซิเจนเพียงพอสำหรับคน 2 คนในหนึ่งวัน และใบไม้สามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 50% ในบริเวณใกล้เคียง
อนุรักษ์ดินและน้ำ
รากของต้นไม้ช่วยลดการพังทลายของดินได้ถึง 95% ในพื้นที่ลาดชัน และป่าไม้ช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับน้ำของดินได้ถึง 40%
รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
ป่าดิบชื้น 1 ตารางกิโลเมตร สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้มากกว่า 1,000 ชนิด
2. ด้านเศรษฐกิจ
- อุตสาหกรรมป่าไม้สร้างงานกว่า 54 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
- การจ้างงานในภาคป่าไม้ของไทยมีประมาณ 500,000 ตำแหน่ง
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
3. ด้านสังคมและชุมชน
- ในประเทศไทยมีพืชสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคตามภูมิปัญญาท้องถิ่น
- การฟื้นฟูป่าช่วยรักษาพิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่นกว่า 100 ชุมชนทั่วประเทศ
- ผู้ที่อาศัยใกล้พื้นที่สีเขียวมีอัตราการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่สีเขียว (อ้างอิง : https://www.sdgmove.com/2021/06/10/sdg-updates-nature-prescription-urban-green-space-inequality)
แนวโน้มและอนาคตของการปลูกป่าในประเทศไทย
รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายในปี พ.ศ. 2580 อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปลูกป่ามากขึ้น เช่น การใช้โดรนในการหว่านเมล็ดพันธุ์ และการใช้ระบบ AI ในการติดตามการเติบโตของป่า
โครงการปลูกป่าที่น่าสนใจ
โครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว โดย สิงห์ เอสเตท เป็นโครงการที่มุ่งสร้างพื้นที่ป่าต้นน้ำใหม่ เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปลูกป่าได้ง่าย ๆ เพียงแค่ปลายนิ้ว โดยโครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้วดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยโครงการได้ตั้งเป้าปลูกป่า 1 ล้านตารางเมตร 10 ปี สะท้อนความมุ่งมั่นในการสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง
การปลูกป่าถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่ส่งผลดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมในการปลูกป่าไม่ว่าจะเป็นการปลูกด้วยตนเองหรือสนับสนุนโครงการปลูกป่า จึงถือเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและอนาคตของโลก เพราะเราทุกคนสามารถมีส่วนในการสร้างโลกสีเขียวให้ยั่งยืนได้
คำถามที่พบบ่อย
Q: ปลูกป่านิยมปลูกต้นอะไร
A: การปลูกป่ามักมีต้นไม้หลายชนิดที่นิยมปลูก ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัตถุประสงค์ของการปลูก แต่ทั่วไปแล้วต้นไม้ที่นิยมปลูกในการปลูกป่ามักจะมีลักษณะดังนี้ ต้นไม้โตเร็ว (ยูคาลิปตัส, กระถินณรงค์ และ สะเดา) ไม้ท้องถิ่น (ประดู่, มะค่า, ตะเคียน และ ยางนา) ไม้ผล (มะม่วง, มะขาม และ ขนุน) ไม้เศรษฐกิจ (สัก และ พะยูง) ไม้ที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ (ไผ่, หว้า และ กระทุ่ม)
Q: ปลูกไม้ป่าต้องขออนุญาตไหม
A: ที่ดินส่วนบุคคล การปลูกไม้ป่าในที่ดินของตนเองไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าเป็นไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ เช่น สัก พะยูง ชิงชัน กระซิก ต้องแจ้งการปลูกต่อเจ้าหน้าที่
ที่ดินสาธารณะหรือพื้นที่ป่า ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การตัดหรือแปรรูปไม้ แม้จะปลูกในที่ดินส่วนตัว การตัดหรือแปรรูปไม้หวงห้ามต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้
การขนย้าย การขนย้ายไม้หวงห้ามต้องมีใบเบิกทางจากกรมป่าไม้