• Home page
  • Blogs Room
  • บทบาทสำคัญและความหลากหลายของระบบนิเวศ กุญแจสู่ชีวิตที่ยั่งยืน
28 Dec 2024

บทบาทสำคัญและความหลากหลายของระบบนิเวศ กุญแจสู่ชีวิตที่ยั่งยืน

บทบาทสำคัญและความหลากหลายของระบบนิเวศ กุญแจสู่ชีวิตที่ยั่งยืน

ระบบนิเวศ หรือ Ecosystem นั้นเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดอาศัยอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือแม้แต่จุลินทรีย์เล็ก ๆ ทุกชีวิตล้วนมีความเชื่อมโยงกันและพึ่งพาอาศัยกันในระบบนี้ จึงทำให้เรียกว่า ระบบนิเวศ

ระบบนิเวศ (Ecosystem) คืออะไร

ระบบนิเวศ คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในบริเวณหนึ่ง ๆ หรือกลุ่ม ๆ หนึ่ง ที่มีปฏิสัมพันธ์กันกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เช่น พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และสิ่งไม่มีชีวิตอย่างดิน น้ำ อากาศ แสงแดด

ความสำคัญของระบบนิเวศ (Ecosystem)

ระบบนิเวศมีความสำคัญในหลายด้าน ที่จะช่วยให้สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ดังนี้

  • ช่วยให้ธรรมชาติมีความสมดุล ระบบนิเวศที่ดีจะช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน ทำให้สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอาศัยอยู่ร่วมกันได้
  • เป็นแหล่งอาหารและทรัพยากร เพราะมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ได้รับอาหารและทรัพยากรจากระบบนิเวศ เช่น น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และป่าไม้
  • ควบคุมสภาพอากาศ ระบบนิเวศมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศ อย่างการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยออกซิเจนออกมาเพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ใช้ในการหายใจได้และดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน
  • ป้องกันภัยธรรมชาติ ระบบนิเวศบางชนิดอย่าง ป่าชายเลน จะช่วยป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม หรือสึนามิได้


องค์ประกอบของระบบนิเวศ มีอะไรบ้าง

1. องค์ประกอบทางชีวภาพ (ฺBiological Component)
องค์ประกอบทางชีวภาพ คือ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

1.1 ผู้ผลิต (Producers)
เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ อย่าง พืชสีเขียว แพลงตอนพืช พวกพืชต่าง ๆ จะเป็นฐานของห่วงโซ่อาหาร เพราะเป็นผู้ผลิตสารอาหารแรกเริ่มให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

1.2 ผู้บริโภค (Consumers) เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร แบ่งออกเป็นหลายระดับ

  • ผู้บริโภคปฐมภูมิ กินพืชเป็นอาหาร เช่น กระต่าย กวาง
  • ผู้บริโภคทุติยภูมิ กินสัตว์เป็นอาหาร เช่น สิงโต เสือ
  • ผู้บริโภคตติยภูมิ กินผู้บริโภคระดับสูงกว่าเป็นอาหาร เช่น นกเหยี่ยว

1.3 ผู้ย่อยสลาย (Decomposers)
เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นธาตุอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น แบคทีเรีย เห็ด รา พวกเขาช่วยให้วัฏจักรของธาตุอาหารในระบบนิเวศดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

2. องค์ประกอบทางกายภาพ (Physical Component)
องค์ประกอบทางกายภาพ คือ สิ่งที่ไม่มีชีวิตในระบบนิเวศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย

2.1 ปัจจัยทางกายภาพ
แสงอาทิตย์ ถือเป็นแหล่งพลังงานหลักของระบบนิเวศ จึงทำให้เกิดอุณหภูมิต่าง ๆ ที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีในสิ่งมีชีวิต รวมถึงน้ำเองก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระบวนการชีวิต และอากาศที่ประกอบด้วยแก๊สต่าง ๆ ที่สิ่งมีชีวิตไว้หายใจ

2.2 ปัจจัยทางเคมี

ธาตุอาหาร อย่างคาร์บอน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส รวมถึงความเป็นกรด-ด่าง มีผลต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต และความเค็มของธรรมชาติเองก็มีผลต่อชนิดของสิ่งมีชีวิตที่สามารถอาศัยอยู่ได้

ระบบนิเวศมีกี่ประเภท

ระบบนิเวศสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ระบบนิเวศทางบก ระบบนิเวศทางน้ำ และระบบนิเวศเทียม โดยระบบนิเวศทางบกประกอบด้วยป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์กินพืช และทะเลทรายที่มีสิ่งมีชีวิตปรับตัวเข้ากับสภาพแห้งแล้ง ส่วนระบบนิเวศทางน้ำครอบคลุมทั้งแม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทรที่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด และระบบนิเวศเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สวน สนามหญ้า และเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิต

1. ระบบนิเวศทางบก ป่า ทุ่งหญ้า ทะเลทราย

ระบบนิเวศทางบกมีความหลากหลายสูงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และชนิดของดินที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ป่า  เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพืชพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด สัตว์ป่า และจุลินทรีย์อาศัยอยู่ ป่ามีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของธรรมชาติ เช่น การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การควบคุมวัฏจักรของน้ำ และการป้องกันการกัดเซาะของดิน

ทุ่งหญ้า เป็นระบบนิเวศที่มีพืชหลักเป็นหญ้า มีสัตว์กินพืช อย่าง กวาง ม้าลาย ยีราฟ อาศัยอยู่ ทุ่งหญ้าจึงมีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด

ทะเลทราย เป็นระบบนิเวศที่มีความแห้งแล้งและมีปริมาณน้ำฝนน้อย พืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง เช่น อูฐ หมาจิ้งจอกทะเลทราย หนูจิ้งโจ หรือที่เป็นพืช อย่าง ต้นกระบองเพชร

2. ระบบนิเวศทางน้ำ แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร

ระบบนิเวศทางน้ำครอบคลุมทั้งแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม

แม่น้ำ เป็นระบบนิเวศที่มีน้ำไหลตลอดเวลา มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์น้ำ

ทะเล เป็นระบบนิเวศที่มีขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทางทะเลสูง เช่น ปลา ปะการัง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ

มหาสมุทร เป็นระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทางทะเลมากที่สุด

3. ระบบนิเวศเทียม สวน สนามหญ้า เมือง

ระบบนิเวศเทียม เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์

สวน เป็นระบบนิเวศขนาดเล็กที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อปลูกพืช ผัก ผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ

สนามหญ้า เป็นพื้นที่โล่งที่มีหญ้าปกคลุม มักพบเห็นในบ้านเรือน สวนสาธารณะ และสนามกีฬา

เมือง เป็นระบบนิเวศที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออยู่อาศัย ทำงาน และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ โดยรอบเมืองมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างมาก

ตัวอย่างระบบนิเวศที่น่าสนใจ

1. ป่าอะเมซอน ถือเป็นระบบนิเวศที่ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือว่าเป็นป่าที่มีความสำคัญ เปรียบเหมือนปอดของโลก เพราะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตออกซิเจนในปริมาณมหาศาล ยังเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย ทั้งยังมีสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจ ที่ดูแปลกตาและหายาก เช่น จระเข้เคแมนดำ งูอนาคอนดาเขียว ปลาปิรันย่าแดง กบลูกศรพิษ และ นกอินทรีฮาร์ปี

2. แนวปะการังเกรตแบร์รีเออร์รีฟ ถือเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นระบบนิเวศที่สวยงามมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อุดมไปด้วยปลามากกว่า 1,500 สายพันธุ์ และปะการังแข็ง 360 สายพันธุ์

3. ทุ่งหญ้าสะวันนา ทุ่งหญ้าในเขตร้อน ถือเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ อย่างยีราฟ ช้าง และสิงโต และมีฤดูแล้งและฤดูฝนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน พืชพรรณส่วนใหญ่เป็นหญ้าและไม้พุ่มเตี้ย นอกจากสัตว์กินพืชขนาดใหญ่แล้ว ยังมีสัตว์กินเนื้อ เช่น ไฮยีน่า เสือชีตาห์ สิงโต และเหยี่ยว

4. ป่าชายเลน ในประเทศไทย ป่าชายเลนถือเป็นแนวเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งทำหน้าที่เป็นป้อมปราการที่คอยรักษาสมดุลของธรรมชาติอีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ต่าง ๆ เพราะเป็นทั้งแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผสมพันธุ์ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน และเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์นานาชนิด อย่าง ป่าชายเลนชุมชนโละบาเกา บนเกาะพีพีดอน จังหวัดกระบี่ ที่อยู่ใกล้กับรีสอร์ท 𝗦𝗔𝗶𝗶 𝗣𝗵𝗶 𝗣𝗵𝗶 𝗜𝘀𝗹𝗮𝗻𝗱 𝗩𝗶𝗹𝗹𝗮𝗴𝗲 ซึ่งเป็นป่าชายเลนที่อยู่บนเกาะห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ มีแนวปะการังล้อมรอบอยู่ด้านนอกทำให้ป่าชายเลนแห่งนี้น้ำทะเลจึงมีความใสสะอาดและมีตะกอนน้อย ที่สำคัญคือมีสัตว์หายากและสิ่งมีชีวิต ที่พบหลายชนิด เช่น ลิงแสม นกแก๊ก กื้งก่าบินหัวสีฟ้า ปูไก่ ปลาสากดำ และปลาอมไข่ตาสีฟ้า โดย สิงห์ เอสเตท ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ ป่ากลางน้ำ ป่าในเมือง และป่าปลายน้ำหรือป่าโกงกาง จึงดำเนินการปลูกป่าบนมาตรฐาน AGI (Asian Green Initiative) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล มีการประเมินวัดผลการเติบโต และขยายตัวของพื้นที่ป่า รวมถึงต้องเป็นพื้นที่ป่าที่เปิดโอกาสให้ชุมชนรอบข้างเข้ามามีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ปัญหาและภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ปัจจุบันระบบนิเวศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาและภัยคุกคามที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคุณภาพชีวิตของมนุษย์อย่างรุนแรง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ทำให้ระบบนิเวศโดนผลกระทบ ดังนี้

  • การทำลายป่า การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สัตว์ป่าสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และเกิดภาวะโลกร้อน
  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงการขยายตัวของเมือง ทำให้ระบบนิเวศเดิมถูกทำลายและสูญเสียความสมดุลไป
  • มลพิษ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง และการเกษตร ทำให้แหล่งน้ำและอากาศเสีย ส่งผล กระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และความถี่ของภัยแล้งและอุทกภัยเพิ่มขึ้น
  • การประมงเกินขนาด การจับปลาในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้ประชากรปลาลดลงและระบบนิเวศทางทะเลเสียสมดุล
  • ขยะและของเสีย ขยะและของเสียที่ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในน้ำ


ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) คือการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ทั้งพืช สัตว์ แบคทีเรีย เชื้อรา และมนุษย์ ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบนบก ในน้ำ บนภูเขาสูง หรือในทะเลทรายอันแห้งแล้ง โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ล้วนมีการปรับตัวและวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานเพื่อความอยู่รอด ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเปรียบเสมือนห้องสมุดธรรมชาติที่เก็บรวบรวมรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต เป็นตาข่ายนิรภัยที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นคลังทรัพยากรสำคัญที่มนุษย์ใช้เป็นแหล่งอาหาร ยา และวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังเสมือนระบบประกันชีวิตของโลก ที่ช่วยให้ธรรมชาติสามารถฟื้นตัวและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้

การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiverdity สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ เนื่องจากพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต โดยทำหน้าที่หลากหลาย เช่น รักษาสายพันธุ์และระบบนิเวศ ให้บริการของระบบนิเวศ บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นแหล่งศึกษาและวิจัย รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนและการท่องเที่ยว พื้นที่อนุรักษ์มีหลายรูปแบบ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่อนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของเอกชนที่มีการจัดการเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น โครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ (CROSSROADS Maldives) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 3.15 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 31% ของขนาดโครงการทั้งหมด ถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่ง สิงห์ เอสเตท ได้ร่วมลงนาม MoU กับรัฐบาลมัลดีฟส์ เพื่อสนับสนุนพื้นที่ OECMs

ความหลากหลายทางชีวภาพกับความยั่งยืน

ความหลากหลายทางชีวภาพนำไปสู่ความยั่งยืนในหลายแง่มุม ดังนี้

  • ความมั่นคงทางอาหาร พืชและสัตว์หลากหลายชนิดเป็นแหล่งอาหารที่หลากหลาย ทำให้มนุษย์มีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหารเมื่อพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเกิดปัญหา เช่น โรคระบาด หรือสภาพอากาศแปรปรวน
  • การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีบทบาทเฉพาะตัวในระบบนิเวศ เช่น ผึ้งช่วยผสมเกสร พืชช่วยผลิตออกซิเจน เมื่อสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดอยู่ร่วมกัน ก็จะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้คงอยู่ได้
  • การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นก็จะมีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือภัยธรรมชาติ
  • แหล่งยาและวัตถุดิบ พืชและสัตว์หลายชนิดเป็นแหล่งของยาและวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารเสริม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นการรักษาแหล่งทรัพยากรที่สำคัญเหล่านี้
  • การป้องกันภัยธรรมชาติ ป่าไม้ช่วยลดความรุนแรงของน้ำท่วม ปะการังช่วยป้องกันชายฝั่งจากคลื่นลม และระบบนิเวศทางน้ำช่วยดูดซับมลพิษ การมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์จึงเป็นเหมือนกำแพงธรรมชาติที่ช่วยป้องกันภัยธรรมชาติได้


แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากการกระทำของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั่วโลกอย่างรุนแรง การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่มีอยู่จะช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยมีแนวทางที่เราทุกคนสามารถช่วยกันได้ ดังนี้

1. อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบนบก เช่น การปลูกป่าเพิ่มเติมพื้นที่สีเขียว หรือการปลูกป่าทดแทน เพื่อฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายไป อย่างโครงการปลูกป่าด้วยปลายนิ้ว โดย สิงห์ เอสเตท เป็นโครงการที่มุ่งสร้างพื้นที่ป่าใหม่ เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ตั้งเป้าสร้างพื้นที่ป่า 1,000,000 ตารางเมตร ภายในปี 2030 ครอบคลุมทั้งป่าต้นน้ำ ป่าในเมือง และป่าชายเลน โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปลูกป่าได้ง่าย ๆ เพียงแค่ปลายนิ้ว

2. อนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในทะเล รักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล และรักษาคุณภาพของน้ำทะเลให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ  โดยทาง สิงห์ เอสเตท มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในการสร้างพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล จึงมุ่งเน้นอนุรักษ์ความหลากหลายในท้องทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การปกป้องระบบนิเวศทางทะเล การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตตามบัญชีแดงของ IUCN (International Union for Conservation of Nature) โครงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลในป่าโกงกาง และการสร้างศูนย์อนุรักษ์สัตว์ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย ผ่านโครงการ CROSSROADS Maldives เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเลอย่างต่อเนื่อง ปี 2023 แนวประการังในพื้นที่อนุรักษ์เติบโตขยายาเพิ่มขึ้น 39.66% หรือ 2,275 ตารางเมตร จากปี 2022 และ โครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนโละบาเกา เกาะพีพี ประเทศไทย

3. ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้พลาสติก และใช้น้ำอย่างประหยัด

4. การมุ่งสู่ Net Zero ถือเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับของก๊าซเรือนกระจก ทาง สิงห์ เอสเตท ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ตามข้อตกลงปารีส มุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero ในปี 2593 เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงแรม 4 แห่ง ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ การใช้พลังงานสะอาดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40%

5. จัดการขยะและของเสียอย่างถูกวิธี ก่อนทิ้งขยะควรคัดแยกขยะให้ถูกต้อง เพื่อลดปริมาณขยะและพลาสติกให้น้อยลง โดยทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแนวทาง 4Rs Rethink, Reduce, Reuse, Recycle เพื่อลดผลกระทบจากขยะสู่ทะเล “Zero Waste to Ocean” ผ่านโครงการสำคัญเช่น "ฃ ขวด คืนค่า" ที่รีไซเคิลขวด PET กว่า 162 กิโลกรัม และความร่วมมือกับ PARLEY จัดการขยะพลาสติกทางทะเล และการรีไซเคิลวัสดุก่อสร้างกว่า 1,232 ตัน นอกจากนี้ยังมุ่งลดขยะอาหารในธุรกิจโรงแรมตามแนวคิด Zero Food Waste อีกด้วย

6. สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เรียนรู้เรื่องธรรมชาติ อย่าง โครงการ CROSSROADS มัลดีฟส์ ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลและวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลที่ให้ความรู้และจัดกิจกรรมอนุรักษ์ต่าง ๆ เช่น การปลูกปะการัง การทำความสะอาดชายหาด และการช่วยเหลือเต่าทะเล รวมถึงการจัดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การดำน้ำตื้นและดำน้ำลึกอย่างมีความรับผิดชอบ การพายเรือ และการล่องเรือชมธรรมชาติ นอกจากนี้ โครงการยังให้ความสำคัญกับการจัดการอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการขยะ การประหยัดพลังงานและน้ำ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นผ่านการจ้างงาน การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และการร่วมมือกับชุมชน เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

7. สร้างความตระหนัก สร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้กับคนรอบข้าง

การอนุรักษ์ระบบนิเวศถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำให้ธรรมชาติและมนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเข้าใจในธรรมชาติ เพราะระบบนิเวศเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่เราอาศัยอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การอนุรักษ์ระบบนิเวศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้


คำถามที่พบบ่อย

Q: ความสำคัญของระบบนิเวศคืออะไร?

A: ระบบนิเวศมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารและยา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และช่วยในการควบคุมสภาพภูมิอากาศ

Q: OECMs คืออะไร? 

A: OECMs (Other Effective Area-Based Conservation Measures) หรือ มาตรการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง คือ พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองโดยตรง เช่น อุทยานแห่งชาติ แต่มีการจัดการที่ส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจมีวัตถุประสงค์อื่น เช่น การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม แต่การจัดการต้องเอื้อต่อการอนุรักษ์ด้วย ต่างจากพื้นที่คุ้มครองที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์ OECMsจึงมีความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ ส่งเสริมการอนุรักษ์แบบบูรณาการ และช่วยบรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์ระดับโลก ตัวอย่างในประเทศไทย ได้แก่ ป่าชุมชน พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน และพื้นที่ทางทหารบางแห่ง ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างการอนุรักษ์ให้ครอบคลุมและยั่งยืนยิ่งขึ้น

Share :