- Home page
- Blogs Room
- Carbon Neutral และ Net Zero ต่างกันอย่างไร ช่วยลดโลกร้อนได้จริงไหม?
Carbon Neutral และ Net Zero ต่างกันอย่างไร ช่วยลดโลกร้อนได้จริงไหม?
เมื่อสภาพอากาศในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยส่วนใหญ่มักมาจากการที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป ทำให้โลกเกิดภาวะโลกร้อน และส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น เป็นต้น การให้ความสนใจเรื่อง Net Zero นั้นสำคัญ ในการช่วยลด และ หยุด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้ดียิ่งขึ้น ปราศจากก๊าซที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน
Carbon Neutrality และ Net Zero คืออะไร? และ ต่างกันอย่างไร?
Carbon Neutral หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่องค์กรหรือประเทศสามารถทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยสามารถทำได้ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
เป้าหมายของ Carbon Neutral คือ การทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ โดยองค์กรหรือประเทศต้องพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีสะอาด สำหรับการปล่อยคาร์บอนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องมีการชดเชยด้วยการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดหรือดูดซับคาร์บอน เช่น การปลูกป่า หรือการซื้อคาร์บอนเครดิต การมุ่งสู่ Carbon Neutral นอกจากจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
Net Zero คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือน้อยที่สุด หรือปล่อยออกมาเทียบเท่ากับปริมาณที่สามารถดูดซับกลับคืนมาได้ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับของก๊าซเรือนกระจก นั่นก็คือ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”
เป้าหมายของ Net Zero
เป้าหมายของ Net Zero คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 หรือใกล้เคียง 0 ให้มากที่สุด ภายในช่วงเวลาที่กำหนด โดยเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับการดูดกลับก๊าซเหล่านั้นซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยสรุป ความเหมือนระหว่าง Carbon Neutrality และ Net Zero คือทั้งสองแนวคิดมุ่งสู่การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนความแตกต่างที่สำคัญคือ Carbon Neutrality เน้นเฉพาะการจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการลดการปล่อยและการชดเชย ในขณะที่ Net Zero ครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกทุกประเภทและเน้นการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมากกว่าการชดเชย ดังนั้น มิติของ Net Zero จึงกว้างกว่าและมักเป็นเป้าหมายระดับองค์กรจนถึงระดับประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
วิธีการบรรลุเป้าหมาย Net Zero สู่การลดโลกร้อน แบ่งเป็น 3 ระดับ
1. วิธีการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในระดับรัฐ
วิธีการที่เราจะบรรลุเป้าหมาย ในระดับรัฐ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ โดยต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะรวมถึงการกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม
- กำหนดนโยบายและมาตรการ ออกกฎหมายและมาตรการจูงใจ เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนระบบขนส่งมวลชน และโครงข่ายไฟฟ้าสะอาด
- สร้างระบบติดตามประเมินผล พัฒนามาตรฐานและระบบรายงาน เพื่อติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน
- พัฒนาบุคลากร จัดทำหลักสูตรและมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสะอาด พลังงานหมุนเวียน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
- ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เช่น ส่งเสริมเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS), การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด, ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร การเกิดขยะ รวมทั้งวางระบบจัดการขยะและน้ำเสีย จัดตั้งกองทุนและมาตรการทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน
- สร้างความร่วมมือ ประสานงานระหว่างประเทศ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์
2. วิธีการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในระดับเอกชน
เอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero เนื่องจากเป็นผู้ใช้พลังงานและทรัพยากรหลักในระบบเศรษฐกิจ การดำเนินการในระดับองค์กรจึงสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีแนวทางดังนี้
- ตั้งเป้าหมายและวางแผน กำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก จัดทำแผนงาน และติดตามผล
- ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ใช้เทคโนโลยีสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- จัดการห่วงโซ่อุปทาน เลือกวัตถุดิบและซัพพลายเออร์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ลงทุนพลังงานสะอาด ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และซื้อพลังงานสะอาด
- สร้างวัฒนธรรมองค์กร อบรมพนักงาน สร้างแรงจูงใจ และจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
- ร่วมมือกับพันธมิตร สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมลงทุนโครงการสิ่งแวดล้อม
- จัดการของเสีย ใช้หลัก 3R พัฒนาระบบจัดการของเสีย และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
- ชดเชยคาร์บอน ลงทุนในโครงการปลูกป่า อนุรักษ์ระบบนิเวศ และพลังงานสะอาดชุมชน
3. วิธีการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในระดับบุคคล
วิธีการที่เราจะบรรลุเป้าหมาย ในระดับบุคคลนั้น เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ เพราะทุกการกระทำมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน ก็สามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ลดการใช้พลังงาน ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน หันมาลองใช้หลอดไฟฟ้า LED ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสม ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน
- เลือกใช้พลังงานสะอาด ติดตั้งโซลาร์เซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลังงานสะอาด
- ลดการใช้รถยนต์ หันมาใช้รถสาธารณะ ขี่จักรยาน หรือเดินทางใกล้ๆ โดยใช้เท้า
- ลดการบริโภค ลดการซื้อของที่ไม่จำเป็น เลือกซื้อของมือสอง เลือกซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์น้อย
- คัดแยกขยะ คัดแยกขยะรีไซเคิล ลดการใช้พลาสติก
- ปลูกต้นไม้ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ผลของการการมุ่งสู่ Net Zero แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม
- ช่วยลดภาวะโลกร้อน ชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติ
- คุณภาพอากาศดีขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ ส่งผลดีต่อสุขภาพ
- รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยปกป้องระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตต่างๆ
ด้านเศรษฐกิจ
- สร้างงานสร้างอาชีพ เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว
- ดึงดูดการลงทุน นักลงทุนหันมาให้ความสนใจในธุรกิจที่ยั่งยืน
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศที่มุ่งสู่ Net Zero จะมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาต่างชาติ
ด้านสังคม
- สุขภาพดีขึ้น อากาศดีขึ้น ส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
- คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีแหล่งน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่
- ความเท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาด ผ่านการให้ความรู้เพื่อการปรับตัว จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ตัวอย่างการดำเนินการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน
ในปัจจุบันเป้าหมายในการให้ความสำคัญในเรื่อง Net Zero ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศต่างๆ องค์กร และธุรกิจต่างตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมาย Net Zero มากขึ้น
- นโยบาย Net Zero ในต่างประเทศ
ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ Net Zero เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศใหญ่ๆ เช่น สหภาพยุโรป ที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย New Zero ภายในปี 2050 เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
- นโยบาย Net Zero ในประเทศไทย
ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยภาครัฐเป็นแกนนำในการกำหนดนโยบายและแผนงาน ขณะที่ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน
- นโยบายภาครัฐ ประเทศไทยได้วางแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง 40% ภายในปี 2030 มีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและส่งเสริมการลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม
- นโยบายภาคเอกชน หลายบริษัทชั้นนำของไทยได้กำหนดเป้าหมาย Net Zero และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น สิงห์ เอสเตท มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 พร้อมเป้าหมายการเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ให้สำเร็จภายในปี 2593 ตาม Net Zero Pathway
สำหรับสิงห์ เอสเตท ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการดำเนินงานมุ่งมั่นสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ควบคู่ไปกับการเติบโตทางธุรกิจ บทความนี้จะพาไปเจาะลึกแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสิงห์ เอสเตท ผ่าน 2 แนวคิดหลัก คือ Carbon Neutrality และ Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 พร้อมเป้าหมายการเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ให้สำเร็จภายในปี 2593
ตัวอย่างเช่น ตั้งเป้าลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 40% ภายในปี ค.ศ. 2030, ติดตั้งโซโลเซลล์ ขนาด 2.8 เมกกะวัตต์, ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ, พัฒนาชุมชน S District และ การพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศครบวงจร ครอบคลุมถึงการจัดการพลังงานสะอาด การบำบัดน้ำเสีย การปลูกป่า
ความสำคัญของการบรรลุเป้าหมายในการทำ Net Zero และ Carbon Neutrality นั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชน หากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ นั่นหมายความว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน อันเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้ ช่วยให้เราสามารถสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน